ในบรรดาคนนิยมชมชอบตู้พรรณไม้น้ำ ไม่มีใครไม่รู้จักปลาตะเพียนหน้าแดง
ปลาตะเพียนหน้าแดงเป็นปลาขนาดปานกลาง มีแหล่งอาศัยในแม่น้ำทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย เมื่อโตเต็มที่จะยาวประมาณ 15 ซ.ม. ตัวผู้ตัวเมียขนาดเท่ากันจึงทำให้การดูเพศเป็นไปแทบไม่ได้ ลักษณะรูปร่างของตะเพียนหน้าแดงคล้ายกับปลาหางไหม้ (Balantiocheilos melanopterus) คือลำตัวยาวแบนข้างเล็กน้อย ส่วนหัวเรียวแหลม ปากเล็ก ครีบกระโดงหลังสูงตั้งชันคล้ายครีบของปลาฉลาม
สิ่งที่ทำให้ตะเพียนหน้าแดงดูโดดเด่นกว่าปลาในวงศ์ปลาตะเพียน (Family Cyprinidae) ชนิดอื่นคือสีสันของมัน ในขณะที่ปลาตะเพียนทั่วไปมักมีลำตัวสีเงินอมเทาหรือบางชนิดก็เป็นเพียงเหลืองอมทอง แต่ตะเพียนหน้าแดงกลับพิเศษกว่านั้นคือนอกจากสีพื้นลำตัวจะเป็นสีเงินวาวเงางามแล้ว ยังมีเส้นดำพาดจากมุมปาก ผ่านดวงตาวิ่งยาวกลางลำตัวไปสิ้นสุดที่เกล็ดสุดท้ายของโคนหางโดยมีแถบสีแดงซึ่งแดงสดจริง ๆ วิ่งขนานคู่กันเหนือขึ้นไปเล็กน้อย จากปากยาวไปจนถึงกึ่งกลางลำตัว เส้นนี้เองทำให้มันกลายเป็นปลาที่ได้รับการยกย่องกันว่าสวยงามอย่างมากและมีนักเลี้ยงปลาทั่วโลกหมายปองอยากนำไปเลี้ยงไว้ในตู้ของตน
นอกเหนือจากเส้นสีดำและแดงที่กล่าวมาแล้ว ตะเพียนหน้าแดงยังมีจุดที่สวยงามอื่น ๆ อีกเช่นครีบกระโดงหลังที่มีสันครีบเป็นสีแดงสดแล้วค่อย ๆ จางไล่มาอย่างมีศิลปะ กับครีบหางที่บางใสตรงกลางสลับด้วยสีดำและเหลืองทองทั้งล่างและบน ดูราวกับว่าเป็นปลาที่เกิดจากฝีมือรังสรรค์ของจิตรกรเอกมากกว่าจะถือกำเนิดมาจากธรรมชาติที่เป็นเพียงลำธารไหลเอื่อยสีขุ่น
ปลาตะเพียนหน้าแดงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Puntius denisonii นักเลี้ยงปลารุ่นใหม่จึงมักเรียกทับศัพท์ไปเลยว่า “เดนิสัน” แต่ชื่อที่คุ้นปากกันก็ยังคงเป็นปลาตะเพียนหน้าแดงอยู่นั่นเอง ในวงการมีนวิทยา ปลาชนิดนี้ถูกพบและนำมาศึกษาวิจัยเป็นร้อยปีแล้ว แต่กว่าโลกจะได้รู้จักปลาแสนสวยชนิดนี้ก็ต้องใช้เวลาอีกนานหลายสิบปี ในเมืองไทยเอง ตะเพียนหน้าแดงเพิ่งถูกนำเข้ามาสร้างสีสันให้วงการเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จัดได้ว่าเป็นปลาราคาสูงและมีปริมาณน้อยจริง ๆ
ในธรรมชาติ ตะเพียนหน้าแดงอาศัยในลำธารหรือแม่น้ำที่ไหลเอื่อย ๆ ตามเชิงเขาทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย สภาพน้ำคล้ายกับบ้านเราคือไม่ใสมากนัก มีอุณหภูมิค่อนข้างเย็นประมาณ 15-25 องศาเซลเซียส ค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ราว ๆ 6.5 และแทบไม่มีความกระด้างเลย พวกมันจะว่ายทวนน้ำในระดับความลึกปานกลางเพื่อจับเอาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดต่าง ๆ ที่ลอยมาตามน้ำกินเป็นอาหาร ตะเพียนหน้าแดงกินทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ เศษซากต้นไม้ใบไม้ ตัวอ่อนแมลงน้ำ ลูกปลาขนาดจิ๋ว ฯลฯ
การเลี้ยง
ตะเพียนหน้าแดงไม่ใช่ปลาเล็ก ฉะนั้นจึงควรเลี้ยงในตู้ขนาด 36 นิ้วขึ้นไป แต่จะดีมากถ้าเป็นตู้ใหญ่กว่านั้นและติดตั้งปั๊มน้ำสร้างบรรยากาศให้คล้ายคลึงกับสภาพน้ำของลำธารที่มีกระแสน้ำไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา การจัดตกแต่งตู้ควรเน้นให้มีพื้นที่ส่วนหน้าสำหรับให้ปลาว่ายน้ำ อย่าวางสิ่งรบกวนเช่นขอนไม้ที่มีกิ่งก้านระเกะระกะ ซึ่งปลาอาจต้องคอยว่ายหลบหลีกทำให้มันเครียด หากชอบประดับตู้ด้วยขอนไม้ประเภทนั้นควรจัดวางให้เลยแนวกลางของตู้ค่อนไปทางด้านหลังจะดีกว่า
ปลาตะเพียนหน้าแดงกินพืชด้วยก็จริง ทว่าในตู้ต้นไม้น้ำพวกมันกลับไม่ใช่นักทำลายล้างอย่างปลาตะเพียนชนิดอื่น ๆ อาจเป็นไปได้ว่าในธรรมชาติมันจำเป็นต้องกินทุกอย่างตามแต่จะพบเพื่อเอาชีวิตรอด แต่ในตู้เลี้ยงซึ่งมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์และเป็นเวลาแน่นอน ปลาจึงไม่จำเป็นต้องหาอาหารอื่นนอกจากรอเวลาให้คนมาหยิบยื่นให้นั่นเอง นี่จึงทำให้ปลาตะเพียนหน้าแดงได้รับความนิยมถูกนำมาเลี้ยงในตู้พรรณไม้น้ำโดยเฉพาะในปลาวัยเด็ก
การจัดตู้ หากไม่ใช่ตู้พรรณไม้น้ำเต็มรูปแบบแล้ว การจัดตู้สำหรับเลี้ยงปลาตะเพียนหน้าแดงก็ถือว่าง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อนเลยสักนิดเดียว แค่มีตู้ขนาดปานกลางหรือขนาดใหญ่หน่อยสักใบหนึ่ง มีระบบกรองข้างตู้ที่ใช้ปั๊มน้ำสร้างการหมุนเวียน ปูพื้นตู้ด้วยกรวดแม่น้ำ หลีกเลี่ยงทรายทะเลหรือหินปะการังซึ่งจะทำให้น้ำกระด้าง ตกแต่งด้วยขอนไม้ขนาดไม่ต้องใหญ่มากและพืชน้ำเล็ก ๆ น้อย ๆ แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการเลี้ยงตะเพียนหน้าแดงสักฝูงหนึ่ง
อาหารสำหรับตะเพียนหน้าแดงสามารถใช้ได้ทั้งอาหารสดและอาหารสำเร็จรูป การให้ไม่ควรให้มากเกินไป อาจแบ่งให้เป็นสองสามมื้อ ๆ ละน้อย ๆ พอให้ปลากินหมดใน 2-3 นาที
ปลาที่เลี้ยงรวมกับตะเพียนหน้าแดงควรเป็นปลาที่มีนิสัยไม่ก้าวร้าว และจะให้ดีที่สุดควรเลือกปลาที่มีระดับการว่ายต่างกันเพราะจะเกิดความสวยงามเวลาดู ตัวอย่างปลาดังกล่าวก็มีเช่น ปลาหมอแคระอย่างแรมเจ็ดสี (Microgeophagus ramirezi) ปลาหมอแรมโบลิเวีย (Microgeophagus altispinosus) ปลาหมู (Botia spp.) ปลาแพะ (Corydoras spp.) แต่ถ้าเลี้ยงปลาที่ว่ายน้ำระดับเดียวกับตะเพียนหน้าแดง มันจะทำให้ดูยุ่งเหยิงกันไปหมด แทนที่จะสบายตาคนดูอาจเวียนศีรษะแทน
ข้อควรระวังในการเลี้ยงคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิฉับพลัน โดยเฉพาะในช่วยฤดูฝน ซึ่งจะทำให้ปลาอ่อนแอติดโรคได้ง่าย ในช่วงฤดูดังกล่าวควรสังเกตสภาพภูมิอากาศ หากมีทีท่าว่าจะมีฝนตกหนักควรงดอาหารและอาจเปลี่ยนถ่ายน้ำเล็กน้อย
ยังไม่ปรากฏหลักฐานเป็นเรื่องเป็นราวสำหรับการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ แต่ค่อนข้างแน่ใจได้ว่าตะเพียนหน้าแดงสามารถเพาะพันธุ์ได้ในตู้เลี้ยง ประเทศที่สามารถเพาะพันธุ์ส่งออกได้เป็นจำนวนพอสมควรคือประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีเพราะปลาตะเพียนหน้าแดงในธรรมชาตินั้นลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา และอาจเป็นไปได้ว่าถ้าไม่มีการป้องกันแก้ไขเสียแต่ตอนนี้ อีกไม่กี่ปีข้างหน้าปลาตะเพียนหน้าแดงจากธรรมชาติอาจสูญพันธุ์จากไปไม่มีวันกลับคืน
ผมไม่แน่ใจว่านักเพาะพันธุ์ปลาในเมืองไทยสามารถเพาะตะเพียนหน้าแดงได้บ้างหรือยัง ถ้ายังก็รีบ ๆ เข้าเพราะเชื่อมือคนไทยว่าในเรื่องปลาสวยงามแล้วเราไม่เคยเป็นรองชาติใดในโลก แต่ถ้าเพาะออกมาได้แล้วก็ขอแสดงความยินดีด้วย และหากเป็นไปได้ก็อยากให้มีการขยายวงกว้าง เพื่อทำให้กลายเป็นปลาสวยงามสำหรับส่งออกต่อไป
บทความ พิชิต ไทยยืนวงษ์
ภาพปลา สายพร มาพรหม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น